บทความน่าสนใจ
25 ธันวาคม 2566

ทำความรู้จักกับ ผู้ให้บริการด้านโลจิสติกส์ หรือ Parties Logistics

ปัจจุบันปฏิเสธไม่ได้ว่าโลจิสติกส์เป็นเรื่องใกล้ตัวและเกี่ยวข้องในการใช้ชีวิตประจำวันของทุกคน เพราะตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงผู้บริโภคยังปลายน้ำนั้นล้วนเกี่ยวข้องกับโลจิสติกส์ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการสั่งซื้อสินค้าออนไลน์ การขนส่ง การสื่อสารและประสานงานหรือการติดตามสถานะจัดส่ง โดย “ผู้ให้บริการด้านโลจิสติกส์” เป็นส่วนที่ช่วยให้การดำเนินงานด้านโลจิสติกส์สะดวกสบายมากยิ่งขึ้น วันนี้จึงอยากมาแนะนำและทำความรู้จักกับ ผู้ให้บริการด้านโลจิสติกส์ ให้มากขึ้น

ผู้ให้บริการด้านโลจิสติกส์ หรือ Parties Logistics นั้น สามารถแบ่งได้ทั้งหมด 5 ประเภท หรือ 5PL โดยมีบทบาทหน้าที่ในการดำเนินงานเป็นตัวบอกความแตกต่าง ของผู้ให้บริการโลจิสติกส์ในแต่ละประเภท ดังต่อไปนี้

1PL (First Party Logistics) หมายถึง ธุรกิจที่องค์กรเป็นผู้ทำกิจกรรมโลจิสติกส์ด้วยตนเองทั้งหมด เช่น ผู้ขาย หรือผู้ผลิตสินค้าเป็นผู้จัดเก็บสินค้า และขนส่งสินค้าไปให้ลูกค้าด้วยตนเอง เป็นเรื่องยากที่ 1PL จะดำเนินการทุกกิจกรรมตั้งแต่ต้นน้ำถึงจนลูกค้าที่เป็นปลายน้ำด้วยตนเองทั้งหมด จึงทำให้เกิดผู้ให้บริการเฉพาะด้านการขนส่ง หรือ ที่เรียกว่า 2PL ขึ้นมา

2PL (Second Party Logistics) หมายถึง ธุรกิจผู้ให้บริการโลจิสติกส์ขั้นพื้นฐาน ซึ่งส่วนใหญ่ให้บริการขนส่งสินค้าเพียงอย่างเดียวที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะทาง เช่น ทางอากาศ (เครื่องบิน) ทางน้ำ (เรือบรรทุกสินค้า) ทางบก (รถบรรทุก) ทางรถไฟ หรือ Courier เป็นต้น ในการขนส่งสินค้าจากจุดต้นทางไปยังปลายทางหรือจุดกระจายสินค้า

3PL (Third Party Logistics) หมายถึง ธุรกิจที่ทำหน้าที่เป็นตัวแทนของผู้ให้บริการโลจิสติกส์ (2PL) ในการให้บริการทั้งหมด หรือบางส่วนของกิจกรรม เช่น บริการด้านการขนส่ง บริการด้านคลังสินค้าและกระจายสินค้า หรือ บริการด้านการเงิน เป็นต้น โดย 3PL จะทำหน้าที่ประสานงานระหว่างผู้ให้บริการโลจิสติกส์ขั้นพื้นฐานที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะทาง (2PL) หลายๆเจ้า และรับช่วงต่อในแต่ละรูปแบบ อธิบายในด้านงานขนส่ง เช่น Shipping หรือ Freight Forwarder ต่างๆ ที่ช่วยดูแลให้การขนส่งสินค้าทั้งการนำเข้า-ส่งออก รวมถึงการดูแลเรื่องเอกสาร และเดินพิธีการศุลกากร เป็นต้น

4PL (Fourth Party Logistics) หมายถึง ธุรกิจผู้ให้บริการให้คำปรึกษาแนวทางในการเลือกใช้ธุรกิจโลจิสติกส์ต่างๆ อธิบายให้เข้าใจง่ายๆคือ ผู้ช่วยลูกค้าเลือกตัวแทนผู้ให้บริการโลจิสติกส์ (3PL) นั้นเอง โดยมีการให้บริการด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ และให้คำปรึกษาการพัฒนาระบบโลจิสติกส์และการจัดการภายในห่วงโซ่อุปทาน (Supply Chain) อีกด้วย

5PL (Fifth Party Logistics) หมายถึง ธุรกิจผู้ให้บริการ e-Business Market โดยจะเป็นผู้จัดหาผู้ให้บริการโลจิสติกส์ (3PLหรือ4PL) และช่วยบริหารจัดการห่วงโซ่อุปทาน ผ่านแพลตฟอร์มระบบอิเล็กทรอนิกส์ หรือ E-Commerce ซึ่งจะช่วยให้ระบบเกิดความยืดหยุ่นและคุ้มค่าสูงสุด นำไปสู่กลยุทธ์การบริหารจัดการที่มีประสิทธิภาพ และสามารถตอบสนองผู้ใช้บริการด้านโลจิสติกส์ได้อย่างครบวงจร