ข่าวสารและบทความ
เราสามารถใช้ประโยชน์จากข้อมูลการปฏิบัติงานเก่า ๆ ในระบบบริหารคลังสินค้ามาพัฒนาทีมงานของเราได้อย่างไร
ในการบริหารงานคลังสินค้า คงจะหลีกเลี่ยงไม่ได้ในการที่จะบริหารทีมงานขนาดใหญ่ ในฐานะหัวหน้างาน ที่จะต้องรับผิดชอบต่อผลการปฏิบัติงานโดยภาพรวม รวมถึงจะต้องบริหารทีม และพัฒนาความสามารถในการทำงานของทีมงานรายบุคคลไปพร้อม ๆ กัน จึงเป็นเรื่องที่ท้าทายสำหรับหัวหน้างานเป็นอย่างมาก ทีมงานที่ดีจะต้องประกอบด้วยทีมงานแต่ละท่านที่มีประสิทธิภาพในการทำงานสูง คือ ทำงานได้อย่างรวดเร็ว และปฏิบัติงานได้อย่างไม่ผิดพลาด จะเป็นการดีกว่าหรือไม่ หากหัวหน้างาน สามารถใช้ข้อมูลสถิติการปฏิบัติงานในอดีต ที่สามารถแยกรายละเอียดผลการปฏิบัติงานรายบุคคล เพื่อนำมาวางแผนพัฒนาทีมงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ และปราศจากอคติในการประเมินประสิทธิภาพในการทำงานของพนักงาน
การแยกรายละเอียดผลการปฏิบัติงานรายบุคคล เริ่มต้นได้จากการเก็บข้อมูลจากระบบในการจัดการคลังสินค้า (Warehouse Management System; WMS) โดยการให้พนักงานแต่ละคนมี User log-in เป็นของตนเอง เพื่อที่เราจะเก็บข้อมูลการปฏิบัติงานแยกตาม User มาวิเคราะห์ข้อมูล ตัวอย่างงานที่สามารถนำข้อมูลการทำงานในระบบมาวิเคราะห์ได้ เช่น การเก็บสินค้า (Put-away), การหยิบสินค้า (Picking), และ การเรียงสินค้าลงพาเลท (Palletizing)
หลังจากการเก็บข้อมูลการปฏิบัติงานตามบุคคลมาได้ หัวหน้างาน อาจจะนำมาวิเคราะห์ประสิทธิภาพในการทำงานรายชั่วโมง หรือ รายวันของพนักงานแต่ละท่าน มีการจัดลำดับผลการปฏิบัติงานของพนักงาน เพื่อมอบรางวัลเพื่อเป็นสร้างแรงจูงใจให้กับทีมงานที่สามารถทำผลการปฏิบัติงานได้ดี จัดแผนการถ่ายทอดเทคนิคในการปฏิบัติงานจากพนักงานที่มีประสิทธิภาพสูงให้กับพนักงานท่านอื่นในทีมเพื่อเป็นการพัฒนาความสามารถของลูกทีม หรือการจับคู่พนักงานที่สามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพกับพนักงานใหม่ในการสอนงาน รวมถึงการที่พนักงานได้รับทราบว่าตนเองกำลังถูกติดตามประสิทธิภาพในการทำงาน จะมีผลทางจิตวิทยาทำให้พนักงานมีความกระตือรือร้นในการทำงานสูงขึ้นกว่าเดิม
ในการสื่อสารเกี่ยวกับการพัฒนาประสิทธิภาพในการทำงานกับพนักงานนั้น หัวหน้างานสามารถนำข้อมูลจากระบบบริหารจัดการคลังมาทำเป็น Dashboard เพื่อแสดงผลการปฏิบัติงานแบบ Real-time เพื่อให้พนักงานได้ทราบถึงผลการทำงานเทียบกับเป้าหมายของการทำงานในแต่ละวัน ทั้งเป้าหมายรวมของทีม และเป้าหมายในรายบุคคลได้ สำหรับบริษัทที่ไม่มีทุนทำ Dashboard แบบ Real-time หัวหน้างานอาจใช้การทำข้อมูลด้วยมือ (Manual) วันละ 1-2 ครั้ง และสื่อสารถึงผลการปฏิบัติงานกับพนักงานก่อนเริ่มงานก็สามารถทำให้เกิดผลดีกับการเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานของทีมเช่นกัน
นอกจากนี้ หัวหน้างาน สามารถนำผลการปฏิบัติงานจริง มาเทียบกับ KPI หรือเป้าหมายในการทำงานที่ตั้งไว้ มาใช้ในการประเมินผลการปฏิบัติงานประจำปีได้อย่างสะดวก และปราศจากอคติ โดยการเทียบผลการปฎิบัติงานเป็น % กับเป้าหมายได้
Ornrumpa A.