บทความน่าสนใจ
05 มีนาคม 2567

Transport Safety Management (TSM) : บุคลากรจัดการด้านความปลอดภัยในการขนส่ง

จากข้อมูลรายงานการเกิดอุบัติเหตุทางถนนของรถตามพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ.2522 การเกิดอุบัติเหตุทางถนนใน ปี พ.ศ. 2563 กว่าร้อยละ 73 สาเหตุเกิดจากรถบรรทุก และอีกร้อยละ 27 เกิดจากรถโดยสาร สาเหตุของอุบัติเหตุส่วนใหญ่ เกิดจากุขาดระบบบริหารจัดการและตรวจสอบด้านความปลอดภัยในการขนส่ง จึงทำให้รถมีสภาพไม่พร้อมใช้งาน ขาดการบำรุงรักษาอย่างเหมาะสม ผู้ขับรถพักผ่อนไม่เพียงพอ มีแอลกอฮอล์ หรือมีการใช้สารเสพติด ผู้ขับรถไม่คุ้นเคยเส้นทางใช้ความเร็วไม่เหมาะสมกับลักษณะทางกายภาพของทาง การใช้ความเร็วเกินกำหนด ไม่มีสถานที่จอดพักที่เหมาะสม ไม่มีเครื่องหมายหรือสัญญาณเตือนในการจอดระหว่างทาง ด้วยเหตุนี้ การมีบุคลากรด้านที่รับผิดชอบในการควบคุม ดูแล แนะนำ ตรวจสอบ และรายงานผลการปฏิบัติตามที่กฎหมายกำหนด จึงมีความจำเป็น เพื่อให้ผู้ประกอบการขนส่งมีแนวทางในการจัดการด้านความปลอดภัยในการขนส่ง อันเป็นมาตรการหนึ่งที่จะช่วยลดจำนวนอุบัติเหตุทางถนน และเป็นการยกระดับมาตรฐานความปลอดภัยในการขนส่งทางถนนของประเทศไทยให้เป็นไปตามมาตรฐานความปลอดภัยระดับสากล

กรมการขนส่งทางบกได้ออกประกาศให้ผู้ประกอบการที่ขึ้นทะเบียนเป็นผู้ประกอบการขนส่งต้องมีบุคลากรจัดการด้านความปลอดภัยในการขนส่ง (Transport Safety Manager : TSM) ที่มีความรู้ความสามารถเฉพาะด้านในการบริหารจัดการหน้าที่ 5 ด้าน คือ การจัดการรถ การจัดการผู้ขับรถ การจัดการเดินรถ การจัดการการบรรทุกและโดยสาร และการบริหารจัดการ การวิเคราะห์และประเมินผลด้านความปลอดภัย พร้อมผ่านการอบรมและขึ้นทะเบียนกับกรมขนส่งทางบก โดยได้กำหนดกรอบระยะเวลาการมี TSM และกำหนดคุณสมบัติ หลักสูตร ระยะเวลาการฝึกอบรมและหน้าที่ของบุคลากรจัดการด้านความปลอดภัยในการขนส่ง พ.ศ.2564 ขึ้นบังคับใช้ในปัจจุบัน (หมายเหตุ: ข้อมูลจากกรมขนส่ง ณ เดือนกันยายน 2563)

ผู้ประกอบการขนส่งที่ต้องการศึกษาและส่งบุคคลากรเข้าอบรมและขึ้นทะเบียน TSM สามารถศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ https://www.tsmthai.com

หรือดาวน์โหลดประกาศ เรื่อง กำหนดคุณสมบัติ หลักสูตร ระยะเวลาการฝึกอบรมและหน้าที่ของบุคลากรจัดการด้านความปลอดภัยในการขนส่ง พ.ศ.2564 ได้ที่ https://www.thaitruckcenter.com/tdsc/NewsDetail?IsPopup=1&id=1246

JiAtthasit