ข่าวสารและบทความ
มาตรฐาน ISO กับการบริหารจัดการขนส่งและโลจิสติกส์
ISO หรือ International Organization for Standardization เป็นองค์กรระดับสากลระหว่างประเทศ ไม่ได้เป็นหน่วยงานที่สังกัดรัฐบาลของประเทศใดประเทศหนึ่ง ดูแลด้านมาตรฐานที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจหรือองค์กร ถือกำเนิดอย่างเป็นทางการมาตั้งแต่ปี 1947 มีสมาชิกกว่าร้อยประเทศให้การยอมรับและเข้าร่วมใช้งานแบบสมัครใจ (Voluntary standard) มีจุดมุ่งหมายในการสร้างมาตรฐานระหว่างประเทศให้เป็นไปในแนวทางเดียวกันเพื่อพัฒนาองค์กรและเศรษฐกิจ รวมถึงผู้บริโภคทั่วโลก
สำหรับภาคธุรกิจขนส่งและโลจิสติกส์ มาตรฐาน ISO ช่วยสร้างมาตรฐานกระบวนการทำงานต่างๆที่เกี่ยวข้องกับ การวางแผน การดำเนินการ และการควบคุมการทำงานขององค์กร รวมทั้งการบริหารจัดการข้อมูลและธุรกรรมทางการเงินที่เกี่ยวข้อง ให้เกิดการเคลื่อนย้าย การจัดเก็บ การรวบรวม การกระจายสินค้า วัตถุดิบ ชิ้นส่วนประกอบ และการบริการให้มีประสิทธิภาพ และประสิทธิผลสูงสุด เพิ่มความเชื่อมั่นให้กับลูกค้าขององค์กรต่างๆ ว่าดำเนินงานโดยมีมาตรฐานและคุณภาพที่สูง
ตัวอย่างมาตรฐาน ISO ที่เกี่ยวกับข้องการงานภาคขนส่งและโลจิสติกส์ มีดังนี้:
ISO 9001:2015 - ระบบการจัดการคุณภาพ (QMS - Quality Management System)
มาตรฐาน ISO 9001 นี้สามารถประยุกต์ใช้ได้กับองค์กรหลายขนาดในทุกประเภทธุรกิจและบริการ เป็นมาตรฐานที่มุ่งเน้นไปที่การตอบสนองความคาดหวังและเพิ่มความพึงพอใจของลูกค้า ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญสำหรับบริษัทโลจิสติกส์
ISO 14001:2015 - ระบบการจัดการสิ่งแวดล้อม (EMS - Environmental Management System)
ISO 14001 เป็นมาตรฐานสากลที่เน้นระบบการจัดการสิ่งแวดล้อม (EMS) และมีความสำคัญเป็นพิเศษสำหรับบริษัทขนส่งและโลจิสติกส์ที่ต้องการลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ลดของเสีย เพิ่มประสิทธิภาพทรัพยากร และมั่นใจถึงการปฏิบัติตามกฎหมาย
ISO 45001:2018 - ระบบการจัดการอาชีวะอนามัยและความปลอดภัยในการทำงาน (OH & S - Occupational Safety and Health)
มาตรฐาน ISO 45001 เป็นมาตรฐานที่เข้ามาแทนที่มาตรฐานด้านอาชีวอนามัยและความปลอดภัย OHSAS 18001 มาตรฐานนี้ช่วยองค์กรในภาคการขนส่งและโลจิสติกส์ให้มีสถานที่ทำงานที่ปลอดภัยและมีสุขภาพดี ป้องกันการบาดเจ็บและการเจ็บป่วยที่เกี่ยวข้องกับงาน และการปรับปรุงอย่างต่อเนื่องในด้านอาชีวะอนามัยและความปลอดภัยในการทำงาน
ISO 28000:2022 – ระบบการจัดการความมั่นคงปลอดภัยสำหรับห่วงโซ่อุปทาน (Security and resilience — Security management systems)
ISO 28000 เป็นมาตรฐานที่เน้นให้ความสำคัญต่อการประกันความมั่นคงปลอดภัยของห่วงโซ่อุปทาน ตามภาระผูกพันที่มีต่อลูกค้าและระเบียบข้อบังคับตามกฎหมาย โดยมีการประเมินสภาพแวดล้อมตลอดจนการพิจารณาถึงการมีมาตรการที่เพียงพอเพื่อจัดการความเสี่ยงด้านความมั่นคงปลอดภัยของระบบห่วงโซ่อุปทาน และลดประเด็นเสี่ยงอันเนื่องมาจากองค์กรไม่สามารถผลิตสินค้าและส่งมอบไปยังลูกค้าได้ถูกต้องตามปริมาณ สถานที่ และเวลาตามเป้าหมายที่กำหนดไว้ ISO 28000 นี้จะมีโครงสร้างเหมือนกับมาตรฐานระบบการจัดการอื่นๆ เช่น ISO 9001, ISO 14001, ISO 45001 เพื่อให้องค์กรสามารถรวมระบบเข้าด้วยกัน รวมถึงมีการปรับบางข้อกำหนดให้สอดคล้องกับมาตรฐานด้านการจัดการความเสี่ยง (ISO 31000) และการบริหารความต่อเนื่องทางธุรกิจ (ISO 22301)
ISO/IEC 27001:2013 - ระบบการจัดการความมั่นคงปลอดภัยด้านสารสนเทศ (ISMS - Information Security Management Systems)
มาตรฐานนี้ช่วยให้องค์กรสามารถบริหารจัดการข้อมูลสารสนเทศให้มีความปลอดภัย รักษาความลับ ครบถ้วนสมบูรณ์ และพร้อมใช้งานอย่างเป็นระบบ สร้างกระบวนการจัดการความเสี่ยงด้วยสารสนเทศ ซึ่งส่งผลต่อความเชื่อมั่นของลูกค้าและผู้มีส่วนได้ส่วนเสียกับองค์กร ซึ่งสำคัญมากสำหรับภาคขนส่งและโลจิสติกส์ เนื่องจากต้องพึ่งพาระบบข้อมูลสารสนเทศอย่างมากสำหรับการดำเนินงาน การติดตาม และการสื่อสารกับลูกค้า
ISO 31000:2018 - ระบบบริหารความเสี่ยงองค์กร (Enterprise Risk Management System)
ISO 31000 เป็นมาตรฐานที่มีคำแนะนำในการจัดการความเสี่ยงที่องค์กรต่างๆ เผชิญอยู่ ซึ่งรวมถึงในภาคการขนส่งและโลจิสติกส์ แม้ว่ามาตรฐานนี้ไม่สามารถใช้เพื่อการรับรองได้ แต่มันก็ให้คำแนะนำเกี่ยวกับกระบวนการจัดการความเสี่ยง เพื่อช่วยให้องค์กรสามารถเผชิญและจัดการกับความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นได้
สำหรับบริษัทขนส่งและโลจิสติกส์ การได้รับการรับรอง ISO นี้ไม่เพียงแต่ยืนยันว่าองค์กรดำเนินการตามแนวปฏิบัติที่ดีที่สุดของอุตสาหกรรมเท่านั้น แต่ยังสามารถเพิ่มความมั่นใจให้กับองค์กรในการแข่งขันในตลาด, เพิ่มประสิทธิภาพในการกระบวนการทำงาน สร้างความน่าเชื่อถือให้กับลูกค้า รวมทั้งช่วยให้องค์กรดำเนินการงานอยู่ในเกณฑ์ที่กฎหมายกำหนดไว้ได้อีกด้วย
ผู้ประกอบการขนส่งและโลจิสติกส์ที่สนใจสามารถศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ https://www.iso.org/home.html