บทความน่าสนใจ
04 มิถุนายน 2567

การปฏิวัติวงการโลจิสติกส์และการจัดการขนส่งด้วยยานยนต์ไร้คนขับ (Autonomous Vehicles: AVs)

ยานยนต์ไร้คนขับ หรือ Autonomous Vehicles (AVs) คือเทคโนโลยีล้ำสมัยที่กำลังสร้างการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ในอุตสาหกรรมโลจิสติกส์และการจัดการขนส่ง การเคลื่อนย้ายสินค้า ไม่ว่าจะเป็นรถบรรทุกไร้คนขับ โดรน หรือเรือไร้คนขับ ล้วนเป็นนวัตกรรมสำคัญที่จะนำพาไปสู่ระบบขนส่งที่มีความปลอดภัย ประสิทธิภาพ ความคุ้มค่า และความเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืนมากยิ่งขึ้น

การทำงานของยานยนต์ไร้คนขับ

AVs ติดตั้งเทคโนโลยีขั้นสูง อาทิ เซ็นเซอร์ กล้อง เรดาร์ และปัญญาประดิษฐ์ ช่วยให้รถสามารถรับรู้สภาพแวดล้อมรอบข้าง ตัดสินใจได้เองแบบเรียลไทม์ และนำทางในสภาพแวดล้อมที่ซับซ้อนได้อย่างแม่นยำ อีกทั้ง ยังสามารถปรับเส้นทางเพื่อความคล่องตัว หลีกเลี่ยงการชน และสามารถทำงานได้ตลอด 24 ชั่วโมงโดยไม่ต้องพักเบรค ส่งผลต่อการยกระดับประสิทธิภาพและลดต้นทุนได้อย่างมาก

ข้อดีของยานยนต์ไร้คนขับ

  1. มีความปลอดภัยมากขึ้น: AVs ช่วยลดอุบัติเหตุและการสูญเสียชีวิตบนท้องถนน ด้วยการลดอุบัติเหตุที่เกิดจากความผิดพลาดของมนุษย์ ซึ่งเป็นสาเหตุสำคัญของอุบัติเหตุบนท้องถนน
  2. ลดต้นทุน: ยานยนต์ไร้คนขับสามารถทำงานได้ตลอด 24 ชั่วโมง 7 วันโดยไม่ต้องพัก ช่วยลดความจำเป็นในการมีคนขับหลายคน ซึ่งเป็นต้นทุนที่มีค่าใช้จ่ายสูงในต้นทุนโลจิสติกส์
  3. ประสิทธิภาพที่เพิ่มขึ้น: AVs สามารถปรับเปลี่ยนเส้นทางเพื่อเลี่ยงการจราจรได้อย่างอัตโนมัติ ช่วยลดระยะเวลาการจัดส่งสินค้า ช่วยลดความจำเป็นในการใช้รถบรรทุกในการวิ่งบนถนนที่มีการจราจรติดขัดในเมือง
  4. ส่งเสริมความยั่งยืนและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม: ยานยนต์ไร้คนขับสามารถปรับเส้นทางอย่างอัตโนมัติ สามารถช่วยลดระยะทางขนส่งที่ไม่จำเป็น ส่งผลให้ช่วยลดการใช้พลังงานเชื้อเพลิงและมลภาวะ ลดปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออไซต์ของอุตสาหกรรม

ข้อจำกัดและอุปสรรคในการนำไปใช้

  1. กรอบกฎระเบียบ: การพัฒนา AVs มาใช้จำเป็นต้องมีกรอบกฎระเบียบที่ชัดเจนและครอบคลุม เพื่อให้แน่ใจว่าการนำ AVs มาใช้บนถนนสาธารณะมีความปลอดภัย
  2. ข้อจำกัดทางเทคโนโลยี: แม้ว่าเทคโนโลยีนี้จะมีความก้าวหน้าอย่างมาก แต่ก็ยังมีข้อจำกัดที่ต้องเอาชนะ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในด้านความน่าเชื่อถือและการรับประกันประสิทธิภาพการใช้งาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งภายใต้สภาพถนนที่หลากหลายและไม่สามารถคาดการณ์ได้
  3. การยอมรับจากสาธารณะ: ยังมีความกังวลเกี่ยวกับการสูญเสียงานของผู้ประกอบอาชีพคนขับรถ ซึ่งการยอมรับของประชาชนที่มีต่อ AVs ก็ยังคงเป็นความท้าทายที่สำคัญ
  4. โครงสร้างพื้นฐาน: การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่รองรับ เช่น สถานีชาร์จไฟและศูนย์ซ่อมบำรุง ถือเป็นสิ่งสำคัญสำหรับการนำ AVs มาใช้อย่างแพร่หลาย ภาครัฐบาลเป็นส่วนสำคัญในประเด็นนี้ ร่วมมือกับทางภาคเอกชนเพื่อผลักดันการนำมาใช้งาน

กรณีศึกษาในประเทศไทย

  • ประเทศไทย: ภาคส่วนรัฐบาลไทยได้ริเริ่มโครงการส่งเสริมการใช้ยานยนต์ไฟฟ้า (Electric Vehicles: EVs) และยานยนต์ไร้คนขับ (Autonomous Vehicles: AVs) โดยตั้งเป้าหมายให้มีรถยนต์ไฟฟ้า 50,000 คันบนท้องถนนภายในปี 2568 ซึ่งหลายบริษัทชั้นนำในประเทศก็เล็งเห็นถึงความสำคัญและเดินหน้าทดลองใช้งาน ตัวอย่างเช่น บริษัท ฮัทชิสัน พอร์ท ประเทศไทย (HPT) ได้ทดลองนำรถหัวลากอัตโนมัติไร้คนขับจากผู้ผลิตสัญชาติจีนอย่าง Westwell มาปรับใช้งานในท่าเทียบเรือชุด ดี ที่แหลมฉบัง (รายละเอียดเพิ่มเติม: https://logistics-manager.com/th/hutchison-ports-thailand-are-driving-towards-the-future-with-autonomous-trucks/)
  • สิงคโปร์: ประเทศสิงคโปร์ถือเป็นหนึ่งในผู้นำด้านการทดสอบและนำยานยนต์ไร้คนขับมาใช้จริง บริษัทชั้นนำอย่าง nuTonomy และ ST Engineering ได้ดำเนินการทดลองใช้งานรถแท็กซี่และรถเมล์ไร้คนขับ
  • จีน: บริษัทเทคโนโลยีรายใหญ่ของจีนอย่าง Baidu และ Didi Chuxing มีบทบาทสำคัญในการพัฒนายานยนต์ไร้คนขับ โดย Baidu ได้เปิดตัวบริการรถแท็กซี่ไร้คนขับในกรุงปักกิ่งเป็นที่แรก

โดยสรุป อนาคตของยานยนต์ไร้คนขับในอุตสาหกรรมโลจิสติกส์และการจัดการขนส่งมีความสดใส ด้วยศักยภาพในการยกระดับความปลอดภัย ประสิทธิภาพ และความยั่งยืน ถึงแม้ว่าเทคโนโลยีนี้จะยังมีอุปสรรคที่ต้องแก้ไข แต่ศักยภาพในการสร้างการเปลี่ยนแปลงนั้นมหาศาล ทั่วโลกจึงเล็งเห็นความสำคัญในการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง และภูมิภาคเอเชียก็ถือเป็นผู้นำแนวหน้าในการขับเคลื่อนการปฏิวัติครั้งสำคัญนี้

ข้อมูลอ้างอิง: