บทความน่าสนใจ
01 กรกฎาคม 2567

พลังงานไฮโดรเจน: พลังงานเชื้อเพลิงสะอาดกับอนาคตการขนส่งสินค้าของประเทศไทย

พลังงานไฮโดรเจน:พลังงานเชื้อเพลิงสะอาดกับอนาคตการขนส่งสินค้าของประเทศไทย

ภาคการขนส่งถือเป็นส่วนงานที่สร้างมลพิษก๊าซเรือนกระจกที่สำคัญทั่วโลก ประเทศไทยเองที่พึ่งพาการขนส่งทางถนนเป็นหลักก็ประสบปัญหาเกี่ยวกับมลพิษทางอากาศนี้เช่นกัน เทคโนโลยีเซลล์เชื้อเพลิงไฮโดรเจนที่ทั่วโลกกำลังพัฒนาจึงถือเป็นทางออกที่น่าสนใจที่อาจปฏิวัติพลังงานเชื้อเพลิงภาคการขนส่งที่สะอาดและยั่งยืน

พลังงานไฮโดรเจนขับเคลื่อนยานพาหนะอย่างไร?

เซลล์เชื้อเพลิงพลังงานไฮโดรเจนมีกลไกการทำงานที่แตกต่างจากเครื่องยนต์สันดาปในปัจจุบัน ซึ่งสามารถอธิบายขั้นตอนได้ดังนี้

  • พลังงานไฮโดรเจนมีการเก็บรักษาเชื้อเพลิงบนตัวรถ: ก๊าซไฮโดรเจนที่ถูกอัดด้วยความดันสูงจะถูกเก็บไว้ในถังควบคุมแรงดันภายในรถ
  • พลังงานไฮโดรเจนใช้ปฏิกิริยาเซลล์เชื้อเพลิงผลิตไฟฟ้า: ก๊าซไฮโดรเจนที่ถูกป้อนเข้าสู่เซลล์เชื้อเพลิง จะทำปฏิกิริยากับออกซิเจนที่ดึงมาจากอากาศและถูกกระตุ้นโดยตัวเร่งปฏิกิริยา ทำให้ผลิตเป็นกระแสไฟฟ้าออกมา
  • ไฟฟ้าที่ผลิตได้จากพลังงานไฮโดรเจนจะขับเคลือนรถ: กระแสไฟฟ้าที่ผลิตได้จากขั้นตอนข้างต้น ถูกนำไปขับเคลื่อนมอเตอร์ไฟฟ้าของรถ ทำให้รถเคลื่อนที่ไปข้างหน้า
  • พลังงานไฮโดรเจนไม่มีการปล่อยไอเสียออกมา: ผลพลอยได้เพียงอย่างเดียวของกระบวนการนี้คือไอน้ำ ทำให้ไฮโดรเจนเป็นทางออกด้านการขนส่งที่ปล่อยไอเสียเป็นศูนย์

ภาคการจัดการโลจิสติกส์และการขนส่งกับเทคโนโลยีพลังงานไฮโดรเจน

จุดเด่นของพลังงานไฮโดรเจนที่ถือเป็นพลังงานสะอาดแล้ว พลังงานไฮโดรเจนยังมีข้อได้เปรียบอื่นๆ สำหรับการจัดการโลจิสติกส์และการขนส่ง ได้แก่

  • รถพลังงานไฮโดรเจนให้ระยะการขับขี่ที่ไกลกว่าพลังงานไฟฟ้าอื่น:รถพลังงานไฟฟ้า (BEV) มีระยะการขับขี่จำกัดเนื่องจากความจุของแบตเตอรี่ ในขณะที่่รถพลังงานไฮโดรเจนไม่ได้มีข้อจำกัดนี้ ส่งผลให้มีระยะการขับขี่ที่ไกลกว่ามาก โดยระยะทางเฉลี่ยทำได้เกิน 1,000 กิโลเมตร ซึ่งเหมาะสำหรับการขนส่งสินค้าและการขนส่งสาธารณะที่วิ่งในระยะทางไกล
  • การเติมเชื้อเพลิงพลังงานไฮโดรเจนทำได้รวดเร็วกว่า:การเติมไฮโดรเจนให้ยานพาหนะคล้ายกับการเติมน้ำมันเบนซินในรถยนต์ทั่วไป ที่ใช้เวลาเพียงไม่กี่นาที เมื่อเทียบกับระยะเวลาการชาร์จแบตเตอรี่ไฟฟ้าของ BEV ที่ใช้เวลายาวนานกว่า ส่งผลให้รอบการทำงานของรถบรรทุกและรถโดยสารหมุนรอบได้เร็วขึ้น เพิ่มประสิทธิภาพการดำเนินงานขนส่งได้อย่างมีนัยสำคัญ
  • รถพลังงานไฮโดรเจนสามารถบรรทุกสินค้าได้มากกว่า:รถพลังงานไฮโดรเจนไม่มีการแบกรับน้ำหนักของแบตเตอรี่เหมือนกับ BEV จึงมีข้อได้เปรียบในการบรรทุกน้ำหนักสินค้าได้มากขึ้น

ประเทศไทยกับการใช้เทคโนโลยีพลังงานไฮโดรเจน

การเปลี่ยนผ่านจากรถพลังงานเชื้อเพลิงสู่รถพลังงานไฟฟ้าแล้วเป็นรถพลังงานไฮโดรเจนของประเทศไทยมีสัญญาณที่ดี เนื่องด้วยนโยบายของภาครัฐและการเล็งเห็นประโยชน์ของภาคเอกชนในด้านต่างๆต่อไปนี้:

  • ช่วยลดการปล่อยมลพิษ:มลพิษทางอากาศเป็นปัญหาหลักของเมื่องใหญ่ๆในประเทศไทย รถพลังงานไฮโดรเจนที่สามารถใช้ทดแทนพลังงานเชื้อเพลิงได้จะช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและปรับปรุงคุณภาพมลพิษทางอากาศได้อย่างมาก
  • สร้างความยั่งยืนด้านพลังงาน:ประเทศไทยสามารถศึกษาการผลิตไฮโดรเจนภายในประเทศจากแหล่งพลังงานหมุนเวียนอื่นๆ เช่น พลังงานแสงอาทิตย์หรือพลังงานลม ซึ่งจะช่วยลดการพึ่งพาการนำเข้าเชื้อเพลิงจากซากสัตว์ (fossi) และเสริมสร้างความมั่นคงด้านพลังงานให้กับประเทศได้
  • ส่งเสริมการสร้างงานในประเทศ:การมาถึงของเทคโนโลยีใหม่อย่างพลังงานไฮโดรเจนมีศักยภาพในเชิงเศรษฐกิจเพียงพอที่จะช่วยสร้างระบบงานใหม่ในด้านต่างๆ เช่น ภาคการผลิตรถและอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้องกับไฮโดรเจนสีเขียว ภาคการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานให้รองรับการใช้งาน รวมถึงภาคบริการการบำรุงรักษายานพาหนะที่ใช้ระบบเชื้อเพลิงใหม่นี้

ข้อจำกัดในการพัฒนาและประยุกต์ใช้เทคโนโลยีไฮโดรเจนของประเทศไทย

ถึงแม้ว่าพลังงานไฮโดรเจนจะมีประโยชน์และทิศทางที่ดี อย่างไรก็ตาม ยังมีหลายปัจจัยท้าทายที่เป็นอุปสรรคในการนำเทคโนโลยีนี้มาใช้งานได้อย่างแพร่หลายในประเทศไทย:

  • โครงสร้างพื้นฐานที่จำกัด:ปัจจุบันประเทศไทยมีสถานีเติมไฮโดรเจนที่ใช้งานได้เพียงแห่งเดียวในจังหวัดชลบุรี การสร้างเครือข่ายสถานีเติมไฮโดรเจนทั่วประเทศ ต้องใช้งบประมาณจำนวนมากและความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชน
  • ต้นทุนการผลิตที่สูง:การผลิตไฮโดรเจนสีเขียวโดยใช้แหล่งพลังงานหมุนเวียน ปัจจุบันมีราคาแพงกว่าน้ำมันเชื้อเพลิงแบบเดิม สิ่งนี้ต้องอาศัยความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีและขนาดการผลิตที่จะช่วยลดต้นทุนการผลิตได้ในระยะยาว
  • ความพร้อมของรถยนต์:รถยนต์พลังงานไฮโดรเจนมีจำหน่ายน้อยในประเทศไทย ความร่วมมือกับผู้ผลิตรถยนต์รายใหญ่และการสร้างแรงจูงใจในการผลิตยานยนต์ เป็นอีกขั้นตอนที่สำคัญ

กรณีศึกษาในประเทศไทย

แม้จะมีข้อจำกัดหลายประการ แต่องค์กรหลายแห่งในประเทศไทยก็ยังคงมุ่งมั่นในการศึกษาด้านการขนส่งพลังงานไฮโดรเจน ตัวอย่างความร่วมมือที่สำคัญ ได้แก่ กลุ่ม ปตท. - OR - TOYOTA - BIG ที่ได้มีความร่วมมือก่อตั้งสถานีเติมไฮโดรเจนแห่งแรกของประเทศไทยในจังหวัดชลบุรี รวมถึงความร่วมมือทางเทคโนโลยีของบริษัทในประเทศไทยกับ Toyota Tsusho ที่มีการพัฒนาต้นแบบรถบรรทุกพลังงานไฮโดรเจนคันแรกของไทยให้เกิดขึ้น แสดงให้เห็นถึงความเป็นไปได้และความพร้อมในการสนับสนุนการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีนี้ให้เป็นประโยชน์กับภาคโลจิสติกส์ของประเทศไทยในอนาคต (สามารถดูรายละเอียดข่าวเพิ่มเติมได้ที่เวปไซต์ของ ปตท.: https://www.pttplc.com/th/Media/News/Content-40716.aspx)

บทสรุป: เส้นทางที่ยั่งยืนของพลังงานไฮโดรเจนในประเทศไทย

ก้าวแรกของไทยในด้านการขนส่งด้วยพลังงานไฮโดรเจน แสดงให้เห็นถึงศักยภาพในการปฏิวัติเทคโนโลยีด้านพลังงานของประเทศ การสนับสนุนอย่างต่อเนื่องจากภาครัฐ การลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน ความร่วมมือกับภาคเอกชน เพื่อลดต้นทุนการผลิตและอุปทานในประเทศ เป็นสิ่งจำเป็นสำหรับการนำเทคโนโลยีไฮโดรเจนนี้มาใช้ได้อย่างแพร่หลายมากขึ้นในอนาคต ซึ่งจะช่วยปลดล็อกอนาคตภาคการขนส่งที่สะอาดไร้มลพิษและมีความยั่งยืนยิ่งขึ้น ในขณะเดียวกันก็ส่งเสริมการเติบโตทางเศรษฐกิจและความมั่นคงด้านพลังงานของประเทศ